“โดนไฟดูดนานแค่ไหนถึงจะเป็นอันตราย” น่าจะเป็นอีกเรื่องที่คนสนใจอยากรู้ เนื่องจากทุกวันนี้คนเราต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบจะตลอดเวลา เมื่อยุ่งกับมันมากก็แน่นอนว่ามันต้องมีพลาดเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ควรทราบไว้ เพื่อจะได้เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน ช่างเชียงใหม่อยากเล่า เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับงานช่าง
อยากนำเสนอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอันตรายของไฟฟ้า ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นบ่อยๆ ว่า เวลาที่เราไปสัมผัสกระแสไฟฟ้านั้นนานเท่าไหร่มีผลอันตรายอย่างไรบ้างกับชีวิตและร่างกายของคนเรา
อันตรายจากกระแสไฟฟ้า
ก่อนที่จะว่ากันถึงเรื่องระยะเวลาว่ามีผลอย่างไร เรามาดูกันก่อนว่า การที่เราถูกไฟดูด มีผลอย่างไรกับคนเราก่อน ซึ่งลักษณะอาการของการถูกกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดอาการได้ดังนี้
1. รู้สึกชาบริเวณที่สัมผัสกับกระแสไฟ
2. ปวดกล้ามเนื้อ จากการหดเกร็ง หรือ มีการกระตุกอย่างรุนแรง
3. เกิดแผลไหม้ โดยเฉพาะในบริเวณที่สัมผัสกับกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นในบริเวณที่มีกระแสไฟไหลเข้าและออก
4. มีอาการผิดปกติของอวัยวะภายในที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น อาจมีผลต่อการมองเห็น การได้ยิน การกลืน แม้แต่การหายใจ และ ชีพจรหยุดเต้น
5. ชัก
6. มีอาการเคลื่อนไหวไม่ได้ (อัมพาต)
7. หมดสติ
8. เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
9. ทำให้เสียชีวิต
จะเห็นได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้า มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงของการโดนไฟฟ้าดูดนั้นมีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้ผลของความรุนแรงแตกต่างกันไป
สิ่งที่ส่งผลต่อความรุนแรงในการถูกไฟฟ้าดูด แบ่งออกไป 3 ประการ ได้แก่
1. ตำแหน่งของร่างกายที่มีการไหลผ่านของกระแสไฟฟ้า
2. ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ร่างกายของเราได้รับเข้าไป
3. ระยะเวลาที่เกิดการไหลผ่านร่างกายของกระแสไฟฟ้า
จาก 3 ประการที่มีผลต่อความรุนแรงของอันตรายเมื่อโดนไฟดูด เราจะเห็นได้ว่า เรื่องของ ระยะเวลา เป็นหนึ่งใน 3 ปัจจัย ดังนั้นการจะถามว่า “โดนไฟดูดนานแค่ไหนถึงจะเป็นอันตราย” เราจะต้องพิจารณา เรื่อง จุดที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายของเราว่าโดนอวัยวะสำคัญหรือไม่ และ จำนวนของกระแสไฟมากน้อยแค่ไหนด้วยเสมอ นอกเหนือไปจากเรื่องของเวลา
ที่นี้มาถึงเรื่องสำคัญ คือ คำตอบของคำถามที่ว่า “โดนไฟดูดนานแค่ไหนถึงจะเป็นอันตราย” อันเป็นสาเหตุที่มาของบทความ อยากนำเสนอในคราวนี้ ซึ่งเราขอเคสยกตัวอย่าง สมมุติว่าเป็นกรณี มือไปโดนเข้ากับจุดที่ไฟรั่ว ในขณะที่เท้าเปล่าเหยียบบนพื้นดิน ซึ่งลักษณะแบบนี้ กระแสไฟฟ้าจะไหลจากนิ้วผ่านแขนเข้าสู่ทรวงอก (ผ่านหัวใจ) และออกจากร่างกาย ครบวงจรลงดิน (ground) ที่เท้า โดยเป็นไฟบ้านทั่วไปที่มีแรงดัน 220 V
กรณี มีปริมาณกระแส 100 mA ร่างกายทนได้ประมาณ 3 วินาที ก่อนจะเป็นอันตราย
กรณี มีปริมาณกระแส 500 mA ร่างกายทนได้ประมาณ 0.11 วินาที ก่อนจะเป็นอันตราย
กรณี มีปริมาณกระแส 1 A ร่างกายทนได้ประมาณ 0.03 วินาที ก่อนจะเป็นอันตราย
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ยิ่งมีปริมาณกระแสไฟฟ้ามาก ยิ่งเกิดอันตรายต่อร่างกายได้เร็วขึ้นเท่านั้น และระยะเวลาก็เป็นเศษเสี้ยววินาทีอีกต่างหาก ดังนั้นในการใช้งานกระแสไฟฟ้า เราจะต้องรู้จักระวังและป้องกันอันตรายอยู่เสมอ และหากไม่ชำนาญ ก็ไม่ควรไปแก้ไข หรือ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเรื่องไฟฟ้า ควรเรียกผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้จะดีกว่า